
ก่อนติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน ต้องรู้ 8 ข้อนี้ !
การเลือกแผงโซล่าเซลล์ หรือโซล่ารูฟ (Solar Rooftop) นั้นมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อนติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ ประเภทของแผงโซล่าเซลล์ พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือระบบการทำงานของโซล่าเซลล์ ทุกอย่างมีผลต่อความคุ้มค่าในการติดตั้งหลังคาโซล่าเซลล์ทั้งหมด ดังนั้นมาดูกันว่า อะไรบ้างที่เราต้องรู้ก่อนติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน
1. งบประมาณในการติดตั้ง
งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญมากในการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคา โดยทั่วไปแล้วการติดโซล่าเซลล์จะใช้งบประมาณอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาดพื้นที่ที่ต้องการติด รวมถึงระบบการทำงานของโซล่าเซลล์
ดังนั้นหากจะติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านควรเตรียมงบประมาณเอาไว้ให้พร้อม แต่ในเรื่องความประหยัดไฟนั้นแน่นอนว่าคุ้มค่าในระยะยาวแน่นอน หากมีการคำนวณปัจจัยต่าง ๆ อย่างถูกต้อง และเลือกบริษัทรับติดตั้งโซล่าเซลล์ที่มีการรับประกันการใช้งาน
อ่านเพิ่มเติม: วิธีคำนวณงบประมาณติดตั้งโซล่าเซลล์บ้าน เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
2. ประเภทของแผงโซล่าเซลล์
ประเภทของแผงโซล่าเซลล์นั้นจะส่งผลต่อหลายปัจจัยในการใช้งาน เช่น ราคา อายุการใช้งาน ประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า และยังมีเรื่องของความสวยงามด้วยเช่นกัน โดยประเภทของแผงโซล่าเซลล์นั้นจะมีทั้งหมด 3 ประเภทที่ควรรู้จัก ได้แก่
1. อะมอร์ฟัสโซล่าเซลล์ (Amorphous Solar Cell)
อะมอร์ฟัสโซล่าเซลล์ เป็นประเภทโซล่าเซลล์ที่มีราคาถูกที่สุด วัสดุเป็นฟิล์มบาง ๆ ผลิตจากสารที่เกิดจากการเปลี่ยนแสงแดดเป็นไฟฟ้า จากนั้นนำมาฉาบทับกันจนเป็นแผ่นฟิล์ม โซล่าเซลล์ประเภทนี้จะมีอายุการใช้งานน้อยที่สุด และมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยกว่าประเภทอื่น
2. พอลิคริสตัลไลน์ (Poly Crystalline Solar Cell)
พอลิคริสตัลไลน์ เป็นประเภทที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประสิทธิภาพดีในอุณหภูมิสูง ลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมไม่ตัดมุมวางเรียงต่อกัน ราคาปานกลาง อายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 20-25 ปี
3. โมโนคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline Solar Cell)
ใครที่อยากได้โซล่าเซลล์ที่มีความสวยงาม พร้อมตกแต่งบ้านภายนอกด้วยนั้น โมโนคริสตัลไลน์ถือเป็นประเภทโซล่าเซลล์ที่ตอบโจทย์ เพราะมีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมตัดมุม โซล่าเซลล์ประเภทนี้ไม่ได้สวยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น กำลังผลิตกระแสไฟฟ้าก็ค่อนข้างมีประสิทธิภาพสูง ทำงานได้ดีแม้แสงน้อย อายุการใช้งาน 25 ปีขึ้นไป และมีราคาสูงที่สุดใน 3 ประเภท

3. ระบบการทำงานของโซล่าเซลล์
ระบบการทำงานของโซล่าเซลล์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ควรรู้เช่นกัน โดยแต่ละแบบจะมีความแตกต่างในด้านความสามารถของการผลิตไฟฟ้า และความเหมาะสมของการติดตั้งในแต่ละด้าน ดังนี้
1. Off-Grid Solar Cell
โซล่าเซลล์แบบออฟกริดเป็นระบบการทำงานที่จะเปลี่ยนแสงแดดให้เป็นพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยไม่ผ่านการแปลงแรงดันจากการไฟฟ้าส่วนกลาง ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รับไฟฟ้ากระแสตรงได้เท่านั้น แต่มีข้อดีคือสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ห่างไกล เช่น เกาะ ดอย และไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากการไฟฟ้าเพื่อติดตั้ง เพราะไม่ได้เชื่อมกับระบบจ่ายไฟของการไฟฟ้าส่วนกลางนั่นเอง
2. On-Grid Solar Cell
โซล่าเซลล์แบบออนกริดนั้นสามารถพบเห็นได้บ่อยในบ้านเรือนทั่วไป การทำงานคือจะเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นกระแสไฟฟ้า ส่งเข้าไปยังอินเวอร์เตอร์ของการไฟฟ้าเพื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ จากนั้นจึงส่งต่อมายังเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน โซล่าเซลล์ประเภทนี้จะประหยัดค่าไฟลงบางส่วน ต้องขออนุญาตเพื่อทำการติดตั้ง แต่ข้อดีคือถ้าผลิตไฟฟ้าได้มาก จะขายคืนให้การไฟฟ้าได้
3. Hybrid Solar Cell
ไฮบริดโซล่าเซลล์จะเป็นการรวมระบบการทำงานแบบออฟกริดและออนกริดเข้าด้วยกัน มีจุดเด่นคือแบตเตอรี่สำรอง ทำให้มีไฟฟ้าเก็บไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉินได้

4. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในบ้าน
พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คำนวณความคุ้มค่าในการติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้รู้ว่าต้องติดตั้งโซล่าเซลล์กำลังไฟเท่าไหร่ถึงจะเหมาะกับบ้านของตนเอง หากเลือกได้ถูกต้องนั้นเรียกได้ว่าจะประหยัดค่าไฟแบบเห็นได้ชัดเลยทีเดียว ในส่วนนี้อาจจะต้องสังเกตมิเตอร์แต่ละวันว่าใช้ไฟไปเท่าไหร่ จากนั้นปรึกษากับบริษัทรับติดตั้งโซล่าเซลล์ผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยแนะนำได้
5. ทิศทางการรับแสงของบ้าน
อย่างที่ทราบกันดีว่า Solar Rooftop เป็นการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นก่อนจะติดตั้งควรสังเกตว่าทิศทางไหนของบ้านสามารถรับแสงได้ดีที่สุด เพื่อที่โซล่าเซลล์จะได้นำแสงมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อวัน

6. ความแข็งแรงของวัสดุหลังคา
เรื่องความแข็งแรงของหลังคาก็สำคัญ เพราะตัวแผงโซล่าเซลล์นั้นค่อนข้างมีน้ำหนัก ดังนั้นพื้นที่ที่จะทำการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาควรที่จะสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่า 50 กิโลกรัมต่อตารางเมตร รวมถึงจัดการปัญหาอื่น ๆ ให้เรียบร้อยก่อนติดตั้ง เช่น หลังคารั่วซึมหรือแตกเสียหาย เป็นต้น
7.รูปทรงหลังคาบ้าน
รูปทรงหลังคาบ้านเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องสังเกตเพราะเป็นจุดที่จะทำการติดตั้งโซล่ารูฟโดยตรง ซึ่งจะส่งผลในเรื่องการบำรุงรักษา และความสะดวกของการติดตั้งด้วย อย่างไรก็ตาม รูปแบบบ้านส่วนใหญ่ในไทยนั้นสามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านได้ แต่อาจจะมีข้อจำกัดเพียงเล็กน้อย ดังนี้
- หลังคาทรงปั้นหยา มีลักษณะลาดเอียงน้อย ส่งผลเรื่องการระบายความร้อน
- หลังคาทรงเพิงแหงน มีลักษณะลาดเอียงน้อยกว่าทรงจั่วเล็กน้อย อาจส่งผลเรื่องการระบายน้ำและความร้อน และปัญหาน้ำรั่วซึม
- หลังคาทรงจั่ว สะดวกต่อการติดโซล่าเซลล์ที่สุด รับแสงได้ดี ระบายความร้อนและระบายน้ำง่าย
8. การดูแลบำรุงรักษา
แน่นอนว่าการใช้งานอุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม จำเป็นจะต้องมีการดูแลรักษาเพื่อคงสภาพและยืดอายุการใช้งานอยู่เสมอ โซล่าเซลล์ก็เช่นกัน ยิ่งอยู่ภายนอก มีโอกาสเจอฝุ่นละออง ลมฝนมากกว่า ดังนั้นหากติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน ต้องไม่ลืมที่จะหมั่นดูแลรักษา
การดูแลแผงโซล่าเซลล์นั้นก็ไม่ยาก สามารถทำได้โดยการเช็ดทำความสะอาดด้วยฟองน้ำหรือผ้านุ่มชุบน้ำประมาณ 4-5 ครั้งต่อปี ตรวจเช็กความผิดปกติต่าง ๆ รวมถึงนัดตรวจสอบแผงโซล่าเซลล์ประจำปีกับบริษัทที่ได้ทำการติดตั้งโซล่าเซลล์ตามรอบก็จะดียิ่งขึ้น

ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านให้คุ้มค่า เลือกบริษัทรับติดตั้งโซล่าเซลล์ที่จริงใจ
การติดแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ซึ่งนอกจากปัจจัยและข้อควรรู้ต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว การเลือกบริษัทรับติดตั้งโซล่าเซลล์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน โดยควรเลือกติดตั้งกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ มีทีมวิศวกรที่มีประสบการณ์ อุปกรณ์ตรงมาตรฐาน ได้รับการรับรอง มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง รวมถึงให้การรับประกันและบริการหลังการขายอย่างครอบคลุม
อ่านเพิ่มเติม: 5 คุณสมบัติที่ต้องมีของบริษัทรับติดตั้งโซล่าเซลล์โรงงานที่น่าเชื่อถือ