
กฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบระบบไฟฟ้า
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปีในโรงงานนั้นมีข้อกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ คือ กฎกระทรวงอุตสาหกรรม และกฎกระทรวงแรงงาน ตามรายละเอียดต่อไปนี้
- กฎกระทรวง กำหนดมาตรการความปลอดภัยที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าโรงงาน พ.ศ. 2550
- กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558
โดยทั้ง 2 กฎกระทรวงนั้นมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกัน คือ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ต้องให้มีการตรวจสอบไม่น้อยกว่าปีละครั้ง และในขั้นตอนการตรวจสอบจำเป็นต้องมีเอกสารที่เป็นหลักฐานรับรองยืนยันความถูกและยืนยันการตรวจสอบระบบไฟฟ้า โดยผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าเป็นผู้เซ็นเอกสารรับรองด้วย

ใคร คือ ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้า?
ขั้นตอนของการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในอาคาร หรือระบบไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม ต้องเป็นการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้า หรือ วิศวกรไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายกำหนดในการตรวจสอบบริภัณฑ์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งผู้ตรวจสอบไฟฟ้าจะทำการตรวจเช็กทั้งระบบการทำงานของวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องใช้ รวมถึงการทำงานของเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ทราบว่ามีสิ่งใดผิดปกติ หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำการแก้ไขหรือไม่ ทำให้ขั้นตอนการตรวจสอบไฟฟ้าประจำปี ไม่ได้สำคัญเพียงแค่การปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นกระบวนการที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือความเสียหายที่อาจขึ้นกับทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้มากขึ้นด้วย
อ่านเพิ่มเติม : ความสำคัญในการเลือกใช้ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าแรงสูงประจำปี
คุณสมบัติของผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้า
เพื่อให้การตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปีเป็นไปตามข้อกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ วิศวกรไฟฟ้าที่จะเข้ามาดำเนินการตรวจสอบต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด ในเรื่องของการได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาไฟฟ้า (ใบ กว.) ตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่จะเข้ามาตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปีได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีใบ กว. สาขาไฟฟ้าเท่านั้น หากเป็นวิศวกรไฟฟ้าแต่ไม่มีใบ กว. ก็ไม่สามารถเป็นผู้ตรวจสอบและจัดทำเอกสารรับรองระบบไฟฟ้าได้
ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปีที่มี ใบ กว. ยังแบ่งออกได้อีกสองประเภท คือ แบบบุคคลธรรมดา และแบบนิติบุคคล ตามรายละเอียดต่อไปนี้
1. ผู้ตรวจสอบไฟฟ้า แบบบุคคลธรรมดา
สำหรับผู้ทำการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในอาคารหรือโรงงานแบบบุคคลธรรมดา โดยส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นวิศวกรไฟฟ้าประจำอาคารหรือโรงงานนั้น ๆ ถึงจะสามารถตรวจไฟฟ้าประจำปีได้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องเป็นผู้ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 “บุคคลใดประสงค์ให้บริการในการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งจัดฝึกอบรมหรือให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 จะต้องขึ้นทะเบียนต่อสำนักความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน”
2. ผู้ตรวจสอบไฟฟ้า แบบนิติบุคคล
สำหรับผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าแบบนิติบุคคลนั้น จะเป็นรูปแบบของการว่าจ้างบริษัทที่มีบริการ PM ระบบไฟฟ้า หรือบริการรับตรวจไฟฟ้าประจำปีตามกฎหมาย โดยผู้ที่ตรวจสอบระบบไฟฟ้าได้จะต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 11 “นิติบุคคลใดประสงค์จะให้บริการในการตรวจวัด ตรวจสอบ ทดสอบ รับรอง ประเมินความเสี่ยง รวมทั้งจัดฝึกอบรมหรือให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 จะต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี”

ความแตกต่างของผู้ตรวจสอบไฟฟ้าแบบ “บุคคลธรรมดา” กับ “นิติบุคคล”
เมื่อสามารถเลือกตรวจสอบได้จากทั้งแบบบุคคลธรรมดาและว่าจ้างนิติบุคคล ทำให้มีข้อควรพิจารณาอยู่บ้าง โดยเฉพาะในด้านความแตกต่างที่ได้รับในขั้นตอนการตรวจไฟฟ้าประจำปีตามกฎหมายกำหนด ดังนี้
- การตรวจสอบไฟฟ้าแบบบุคคลธรรมดามีข้อดีในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า การว่าจ้างนิติบุคคล
- การตรวจไฟฟ้าประจำปีแบบบุคคลอาจมีความเสี่ยงต่อการยกเลิกงานหรือทิ้งงานกลางคันได้ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการออกเอกสารสัญญาว่าจ้าง
- การตรวจไฟฟ้าด้วยวิศวกรภายในองค์กร หรือประจำโรงงานจะใช้เวลาในการตรวจสอบที่นานกว่า เนื่องจากข้อจำกัดทางบุคลากร ขณะที่การจ้างนิติบุคคลตรวจไฟฟ้าประจำปีจะมีใช้ระบบตรวจสอบแบบเป็นทีมงาน ระยะเวลาตรวจจึงรวดเร็วกว่า
- วิศวกรตรวจไฟฟ้าแบบนิติบุคคลจะมีการกำหนดขั้นตอน และวิธีตรวจสอบตามมาตรฐาน ทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานและตรวจสอบได้แม่นยำมากกว่า
- บริษัทที่มีบริการตรวจสอบรับรองระบบไฟฟ้าประจำปี จะใช้อุปกรณ์ในการตรวจสอบที่ได้มาตรฐานการสอบเทียบ ISO/IEC 17025 รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำสำหรับวิธีดูแลรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม
บทลงโทษหากไม่ใช้ผู้ตรวจสอบไฟฟ้าขึ้นทะเบียน
การตรวจสอบไฟฟ้าประจำปี เป็นเรื่องสำคัญและมีข้อกฎหมายกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องความถูกต้องของการตรวจสอบ และการเลือกผู้ตรวจสอบที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตามมาตรา 9 และมาตรา 11 ตาม พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ซึ่งหากโรงงาน อาคาร หรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตาม โดยไม่เลือกวิศวกรไฟฟ้าตามคุณสมบัติและไม่มีการขึ้นทะเบียน หากตรวจสอบพบจะต้องได้รับบทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตรวจระบบไฟฟ้าประจำปี ตรวจอะไรบ้าง?
การตรวจระบบไฟฟ้าประจำปีตามกฎหมายกำหนดจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำงานภายในโรงงานหรืออาคารได้มากขึ้น เพราะในขั้นตอนการตรวจระบบไฟฟ้ามีสิ่งที่ต้องตรวจ ดังนี้
- สายไฟฟ้า
- เซอร์กิตเบรกเกอร์
- จุดต่อสาย หรือขั้วต่อสาย
- ระบบระบายอากาศภายในห้องไฟฟ้า
- ระบบระบายอากาศและท่อไอเสียในห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
- แบตเตอรี่
- หม้อแปลงไฟฟ้า
- ตู้เมนสวิตช์
- แผงย่อย
- ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โคมไฟ หลอดไฟ
- สภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า
การตรวจสอบไฟฟ้าประจำปี เป็นอีกหนึ่งข้อกฎหมายที่หากไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดตามข้อกฎหมาย แต่เหนือสิ่งอื่นใด การที่วิศวกรไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้ามาช่วยตรวจสอบการทำงาน ความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและวงจรไฟฟ้าภายในอาคารถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากไฟฟ้าลัดวงจรได้ การเสียเงินว่าจ้างบริษัทที่มีบริการตรวจสอบไฟฟ้าย่อมคุ้มค่ากว่าการเสียค่าใช้จ่ายซ่อมแซมเมื่อเกิดความเสียหายแน่นอน
Nutthaphume Engineering ผู้ให้บริการตรวจสอบไฟฟ้าประจำปี พร้อมทีมวิศวกรไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญ
เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนการตรวจสอบไฟฟ้าประจำปีที่ถูกต้อง ปลอดภัย ด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ควรเลือกผู้ให้บริการตรวจสอบระบบไฟฟ้าที่ไว้วางใจได้ มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ที่ Nutthaphume Engineering เรามีทีมวิศวกรไฟฟ้าผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ มั่นใจได้ว่าการตรวจระบบไฟฟ้าประจำปีจะเป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมาย พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในระบบไฟฟ้าให้กับผู้ใช้งานได้มากที่สุด หากคุณกำลังมองหาผู้ตรวจสอบไฟฟ้าประจำปี Nutthaphume Engineering ยินดีให้บริการ